ชอบเรื่องนี้ช่วยกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ


เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน พักแพ 500 ไร่

เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือ เขื่อนรัชชประภา หรือ ที่ได้ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย ครั้งนี้ได้มีโอกาสไปเที่ยวเป็นครั้งที่สอง ซึ่งความสวยของครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว ก็แตกต่างกันไป เพราะว่าล่องเรือไปคนละเส้นทาง เนื่องจากพักคนละที่กันน่ะครับ แต่ไม่ว่าจะครั้งนี้ หรือ ครั้งที่แล้ว ก็ยังรู้สึกว่าเขื่อนเชี่ยวหลานยังคงเป็นเขื่อนที่มีทัศนียภาพที่สวยงามไม่เปลี่ยนแปลงเลย


พวกเราเลือกบริการเรือข้ามฟาก และ ที่พัก กับ "แพ 500 ไร่" ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการนำเที่ยวเขื่อนรัชชประภา
พิกัด GPS ออฟฟิต แพ 500 ไร่
08.92181, 98.90862



พวกเรามาถึงค่อนข้างสาย เลยทำให้ไม่ทันเรือรอบ 9 โมง เช้า ทำให้เราไม่สามารถซื้อแพ็คเกจทัวร์แบบเต็มแพ็คเกจ พวกเราเลยเลือกจองเฉพาะบริการ ที่พัก และ อาหาร 3 มื้อ ในราคา 4,000 บาท สำหรับ 4 คน ซึ่งก็เท่ากับตกคนละ 1,000 บาทเท่านั้นครับ


แต่ในกรณีที่ต้องการซื้อแพ็คเกจทัวร์แบบที่มีนำเที่ยวด้วย ก็ดูจากลิงค์นี้ละกันนะครับ
http://www.500rai.com/tour/



หลังจากตกลงซื้อแพ็คเกจเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางต่อไปอีกตามเส้นทางหลวง 401 ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็เจอป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปเขื่อนรัชชประภา และ ขับเข้าไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร


บริเวณทางเข้าเขื่อนจะมีด่าน


จากด่านขับมาอีกหน่อยก็จะเจอจุดชมวิวตรงบริเวณสันเขื่อน เห็นนักท่องเที่ยวจอดถ่ายรูปก็เลยขอจอดเก็บภาพบ้าง

เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยพื้นทีส่นใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็น เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง


บริเวณท่าเรือมีจุดรับฝากรถ
ฝากพิกัด GPS ไว้ด้วยละกันครับ ปักหมุดแล้วมาตรงที่จอดรถเลยครับ
08.97779, 98.82166
ค่าฝากรถ
ฝากช่วงเช้าถึงเย็น 40 บาท
ฝากค้างคืน 80 บาท


หันไปเห็นเจ้ากล้องวงจรปิดตัวนี้ส่องตรงไปที่รถของเรา ก็ค่อยสบายใจขึ้นมาอีกหน่อย



ค่าเรือพาไปส่งที่แพ ขึ้นอยู่กับระยะทางของแพน่ะครับ อย่างพวกเราเลือกพักที่ "แพ 500 ไร่" ค่าเรือ 2,500 บาท แต่ถ้าอยู่ต่ออีก ทางเรือเค้าคิดเพิ่มคืนละ 1,000 บาท ส่วนคนขับเรือเค้าจะอยู่ที่แพกับเราตลอดจนเรากลับน่ะครับ


ในบริเวณเขื่อนรัชชประภาจะมีที่พักของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาสกไว้บริการนักท่องเที่ยว ได้แก่
หน่วยอุทยาน ขส.2 มีบ้านพัก 2 หลัง พักได้ 30 คน
แพพักที่หน่วยฯ นางไพร มี 6 หลัง พักได้ 50 คน
แพพักที่หน่วยฯ โตนเตย มี 7 หลัง พักได้ 10-18 คน
แพพักที่หน่วยฯ ไกรสร มี 10 หลัง ราคาที่พักรวมค่าอาหารคนละ 500 บาท
นอกจากนั้นแพต่าง ๆ ยังมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ที่หน่วยพิทักษ์นางไพร โดนเตย และไกรสร มีเรือแคนูให้เช่า ราคา 200 บาท/วัน โดยเฉพาะที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขส. 4 (โตนเตย) จะมีถ้ำให้นักท่องเที่ยวได้ผจญภัยตื่นเต้น คือ ถ้ำน้ำทะลุ ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ 6 กิโลเมตร โดยทางเท้า เป็นถ้ำใหญ่ที่มีธารน้ำไหล มีหินงอกหินย้อยที่งดงาม การเดินเที่ยวถ้ำค่อนข้างลำบากจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็มีที่พักและกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจบริการนักท่องเที่ยว เช่น สนามกอล์ฟมาตรฐาน 8 หลุม นั่งเรือชมบรรยากาศของทะเลสาบเหนือเขื่อน
สอบถามเพิ่มเติม โทร. (077) 240-740-5 สำหรับบ้านพักมีบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 111 ห้อง ราคา 200-500 บาท/คืน สอบถามรายละเอียด โทร. (077) 240-740-5 ต่อ 5008 ในวันและเวลาราชการ



พวกเรามาเที่ยวเขื่อนรัชชประภา ช่วงเดือนกรกฏาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝน
การเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปีครับ แต่ว่าช่วงหน้าฝนก็ต้องทนนิดนึงครับ อาจต้องรอจนกว่าฝนจะหยุดเรือเค้าถึงจะออกครับ



บริเวณท่าเรือมีร้านอาหารไว้คอยบริการ ก็เลยนั่งทานอาหารรอฝนหยุดก่อน



ก่อนลงเรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนครับ
ค่าธรรมเนียม
คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท
ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท
คนไทย เด็ก 20 บาท
ต่างชาติ เด็ก 100 บาท
ถ้ามีบัตรนักเรียน นักศึกษา ได้รับส่วนลด 50%



แผนที่จุดท่องเที่ยวสำคัญบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสก และ เขื่อนเชี่ยวหลาน



ฝนหยุดตกแล้วพร้อมออกเดินทาง




เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2530 แต่เดิมนั้นสามารถเดินทางได้โดยจาก อำเภอพนม แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนประกอบด้วยเหวจำนวนมากเส้นทางดังกล่าวจึงต้องปิดตัวลงโดยปัจจุบันสามรถเดินทางโดยผ่านอำเภอบ้านตาขุน เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ



พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีทัศนียภาพอันงดงาม ประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามากมาย จนได้รับฉายาว่า "กุ้ยหลิน เมืองไทย" ซึ่งพื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก (เว้นเพียงพื้นที่น้ำในเขตทุ่นลอย อันได้แก่ รอบพระตำหนักเรือนรับรองที่ประทับ หน้าช่องระบายน้ำ และตลอดแนวสันเขื่อน อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)


 






คนขับเรือจะพามาเที่ยวบริเวณที่เรียกว่ากุ้ยหลินเมืองไทย ซึ่งมีไฮไลท์สำคัญ เขาสามเกลอ ซึ่งเป็นลักษณะแท่งหิน สามแท่งตั้งอยู่เรียงกัน



บริเวณเขาสามเกลอมี หินลักษณะคล้ายอินเดียนแดง



ปกติถ้าซื้อเป็นแพ็คเกจแบบเต็มโปรแกรม คนขับเรือจะพาไปเที่ยวจุดอื่นๆ ตามโปรแกรมทัวร์ ก่อนจะเข้าที่พัก แต่ว่าเราไม่ได้ซื้อแพ็คเกจแบบเต็มมา คนขับเรือก็เรือพาพวกเรามุ่งหน้าสู่ที่พัก หลังจากชมบริเวณกุ้ยหลินเมืองไทยแล้ว


ระหว่างทางไปที่พัก เงยหน้าขึ้นไปเจอก้อนเมฆ ก้อนนี้




ใช้เวลาประมาณ ชั่วโมงกว่าๆ พวกเราก็มาถึงที่พัก ที่แพ 500 ไร่
พิกัดที่พัก แพ 500 ไร่ 
09.05789 / 098.63116



จุด A คือบริเวณที่จอดรถ
จุด B คือที่พัก แพ 500 ไร่


ถึงที่พัก ก็รีบเข้าไปสำรวจภายในห้องพักก่อนครับ
ด้านในเป็นเตียงแบบ Double Bed นอนกัน 2 คน สบายๆ มีประตูเปิดออกไปชมวิวของเขื่อน และ ภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน ดูแล้วสดชื่นมากๆ






มีน้ำขวดให้ 3 ขวด แต่พวกเรามี 4 คน เลยไปขอเพิ่มมาอีก 1 ขวด เพราะว่าจริงๆ แล้ว ห้องนึงสามารถนอนได้สูงสุด 4 คน


มีหมอนสำรองให้ เผื่อมีคนเพิ่ม


ห้องน้ำเป็นแบบ Open และ ใช้ฝักบัวแบบ Rain Shower น้ำแรงสะใจ




หมูน้อยปีนขึ้นไปสำรวจห้องนอนชั้นบน บันไดชันมาก.. 


หลังจากเก็บสัมภาระ สำรวจห้องพักกันเรียบร้อยก็ได้เวลา โดดน้ำแล้วล่ะครับ



ที่ระเบียงห้องพักจะมีเรือคายัค จอดไว้ให้พายเล่น




ชอบพี่คนนี้เค้าใส่เสื้อชูชีพจริงๆ เค้าบอกว่ามันลอยตัวดี ในท่ายืน แต่ถ้าจะว่ายน้ำก็ไม่สะดวกเท่าไหร่ เพราะว่าก้นจะลอย


วิวสุดยอดจริงๆ ครับ อยู่แบบนั้นแล้วลืมความวุ่นวายในกรุงเทพฯ ไปเลย.. ลืมไปเลยว่าเมืองไทยเราที่เคยเป็นประเทศสงบ มันแตกแยกกลายเป็น สีเหลือง สีแดง หลากสี ไปเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่นั่น ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเช็คเมล์ ไม่ต้องรับรู้ข่าวสารเลย


แต่ข้อเสียอย่างนึงครับ ยุงตัวใหญ่มาก อยู่ในห้องต้องไม่เปิดประตูทิ้งไว้นะครับ

ได้เวลาอาหารค่ำแล้ว..


สำหรับแพ็คเกจ 4,000 บาท ที่ไม่ได้รวมนั่งเรือเที่ยวตามโปรแกรมทัวร์ ผมว่าคุ้มมากๆ เลยนะครับ เพราะว่ามีที่พัก 1 คืน และ อาหารแบบจัดเต็มให้ตั้ง 3 มื้อ เฉลี่ยแล้วตกแค่คนละพันเดียวเองครับ


เรามาดูหน้าตาอาหารกันครับ ผมก็เรียกไม่ค่อยจะถูกเท่าไหร่นะครับ ใครรู้ว่ามันคืออะไรบ้างก็นึกในใจละกันครับ
สำหรับอาหารบางอย่างจำกัดการเติม แต่บางอย่างเติมไม่อั้นครับ






ตบท้ายด้วยขนมหวาน
หลังจากนั้นก็กลับเข้าห้องพัก หลับสบายไปอีกคืนนึง



ตื่นเช้ามาเจอบรรยากาศแบบนี้ โอ้โห สวยตะลึงไปเลย..


คว้าโน๊ตบุ๊ก มานั่งทำงานก๊อกแก๊ก ไปเรื่อย รอเวลาอาหารเช้า



หลังจากนั้นก็ออกไปถ่ายรูปเล่นกันต่อ บริเวณตรงกลางร้านอาหารจะมีเจาะไว้เป็นสะพานเดินข้าม ตรงนี้จะเห็นน้ำเป็นสีเขียวปี๊ดเลยครับ แถมมีปลามาว่ายให้ดูด้วย


อิจฉาคนที่อยู่แถวนั้นจริงๆ เค้าได้เห็นอะไรสวยๆ แบบนี้ทุกวันเลยนะครับ



ระบบบำบัดน้ำเสียของทางที่พัก

พวกเราพักกันจนถึงเที่ยง เพราะว่าเมื่อวานมาสายมาก ปกติ ถ้าซื้อแพ็คเกจทั่วไป เราจะต้องมาถึง ที่พักตอนกลางวัน แล้วก็จะต้องทานอาหารกลางวันเป็นมื้อแรก อาหารค่ำเป็นมื้อที่สอง และ อาหารเช้าเป็นมื้อที่สาม หลังจากนั้นก็จะต้องนั่งเรือกลับ
แต่.. เนื่องจากพวกเราไปถึงสาย ทางรีสอร์ทเลยอนุโลมให้เปลี่ยน จากกลับแต่เช้าเป็นกลับตอนเที่ยงแทนได้ครับ การทานอาหารของเราเลยแตกต่างจากกลุ่มอื่น คือเราทานอาหารค่ำเป็นมื้อแรก อาหารเช้าเป็นมื้อที่สอง และ อาหารกลางวันเป็นมื้อที่สาม แล้วค่อยกลับเข้าฝั่ง


อาหารกลางวันมาแล้วครับ จัดเต็มมาก สำหรับปลาเค้าไม่ให้เติมนะครับ


นอกนั้นเติมได้ไม่อั้น..



เนื่องจากกล้องแบ็ตหมด ทางรีสอร์ท แถมลืมที่ชาร์ตแบ็ตไว้ในรถ ก็เลยจบเห่ ต้องใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปแทน คุณภาพก็เลยได้มาเท่านี้แหละครับ ภาพไม่สวยแต่ก็พอดูออกว่ามีอาหารอะไรบ้างนะครับ



ปิดท้ายด้วยสัปปะรด กับแตงโม


จบทริปเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน เท่านี้ละกันนะครับ สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน จริงๆ แล้วเรื่องของที่พักมีให้เลือกหลากหลายมาก ลองอ่านบล็อกของเพื่อนๆ ท่านอื่นดูก็ได้นะครับ ไว้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจ แต่สำหรับผมแล้ว รู้สึกว่าที่นี่ใช้ได้เลยครับ ราคาก็ไม่แพง การบริการก็ดีมากครับ



ปัจจุบัน (2558) แพ 500 ไร่ มีการสร้างสระว่ายน้ำไว้ให้บริการเพิ่มเติม




ชอบเรื่องนี้ช่วยกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับ



1 ความคิดเห็น: